การถ่ายทอดพลังงานไปตามลำดับขั้นการบริโภค สิ่งที่ผ่านมาตามห่วงโซ่อาหารและสายใยอาหารนั้น  มิได้มีเพียงสารอาหารเท่านั้น  แต่มีสารอื่นปะปนมาด้วย  เช่น  ดีดีที  ปรอท  แคดเมียม  ฯลฯ  สารเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์  จึงสะสมอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต  แล้วถ่ายทอดต่อ ๆ ไปตามลำดับขั้นการบริโภคเข้ามาสู่ผู้บริโภคลำดับสุดท้ายหรือเข้าสู่มนุษย์นั่นเอง  นั่นหมายความว่าห่วงโซ่อาหารยิ่งยาวการสะสมสารพิษยิ่งมีมากขึ้น   ดังนั้นมนุษย์ต้องเข้าใจวิธีการเลือกอาหารมาบริโภค  การเลือกบริโภคสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในลำดับขั้นการบริโภคที่ต่ำย่อมปลอดภัยมากกว่าการบริโภคสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในลำดับขั้นการบริโภคที่สูงกว่านั่นเอง

 
                โดยมากเรานึกว่าธรรมชาติจะดูดซับสารพิษได้หมด  จึงไม่ค่อยระมัดระวังในการกำจัดสารพิษในสภาพแวดล้อม  เช่น  ถ้าเติมสารพิษ 1 แกลลอน  ลงในน้ำ 1,000  ล้านแกลลอนสารพิษจะกระจายอย่างรวดเร็ว  ซึ่งจะมีผลกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ  เช่น  สัตว์ที่กินอาหารโดยการกรอง (Filter Fuding) จะสะสมพิษได้สูงมาก  โดยเฉพาะหอยนางรมซึ่งกินอาหารโดยการกรองอยู่ในน้ำตื้นใกล้ฝั่งที่มีการทิ้งของเสียลงมามากและยังไม่ทันแพร่กระจาย  ดังนั้นหอยนางรมจึงมีสารพิษสูงกว่าในน้ำมาก  เช่น  พบว่ามียาฆ่าแมลงชนิดคลอริเนทเตท ไฮโดรคาร์บอน (Chlorinated Hydrocarbon) ได้แก่ ดีดีที (DDT.) ดัลดริน  (Duldrin)  เอนดริน  (Endrin)  อัลดริน  (Aldrin)  คลอเดน  (Chlordane)  เป็นต้น  ในหอยนางรมสูงกว่าในน้ำถึง  70,000  เท่า  ดังนั้นสารจะแพร่กระจายไปตามลำดับขั้นการบริโภคเข้าสู่ผู้บริโภคลำดับสุดท้ายหรือเข้าสู่มนุษย์นั่นเอง


                               
องค์ประกอบทั้งส่วนที่เป็นสิ่งไม่มีชีวิตและสิ่งมีชีวิต เป็นส่วนที่เป็นโครงสร้างและส่วนที่เป็นหน้าที่  ได้แก่  กิจกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ การเปลี่ยนแปลงและการเจริญเติบโตของระบบนิเวศ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดพลังงานและสารอาหาร ในขณะที่มีการถ่ายทอดพลังงานและสารอาหาร พลังงานจะลดลงไปตามลำดับขั้นของการกิน (Trophic Level) ที่สูงขึ้น โดยประมาณแล้วจะลดลงร้อยละ10  ทุก ๆ ครั้งที่เปลี่ยนลำดับขั้นของการกิน  เนื่องจากพลังงานส่วนใหญ่จะเปลี่ยนรูปและปล่อยออกมาในรูปของความร้อน แต่สารอาหารยังคงมีอยู่เท่าเดิม และในที่สุดก็จะถูกย่อยสลายให้เป็นสารประกอบโครงสร้างง่าย ๆ  เพื่อเป็นธาตุอาหารของผู้ผลิตต่อไป