3.  การแพร่กระจายของพืชและสัตว์
                ในแต่ละส่วนของโลกพบว่ามีชนิดและปริมาณของพืชและสัตว์แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน  เช่น  บริเวณป่าดิบชื้น  ป่าผลัดใบ  ป่าสน  ทุ่งหญ้า  ทะเลทราย แม่น้ำ  ทะเลสาบ  ทะเลและมหาสมุทร ในแต่ละบริเวณนี้สิ่งมีชีวิตต้องปรับตัวให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบการดำรงชีวิตแตกต่างกันไป  พวกที่ปรับตัวไม่เหมาะสมก็ตายไปหรือย้ายถิ่นฐานกระจายออกไปสู่บริเวณอื่นๆ ต่อไป  จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายของพืชและสัตว์   แต่เนื่องจากสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดยังไม่มีความสมบูรณ์ด้วยตนเอง  จึงไม่พบพืชและสัตว์ชนิดหนึ่งชนิดใดในทุกส่วนของโลกได้   นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ควบคุมการแพร่กระจายของพืชและสัตว์ เช่น สภาพการแบ่งแยกทางภูมิศาสตร์ เป็นสิ่งกีดขวางที่สำคัญต่อการแพร่กระจายของประชากร สำหรับพืชและสัตว์บกจะมีเทือกเขาสูง แม่น้ำ ทะเลและมหาสมุทร  เป็นสิ่งกีดขวางการแพร่กระจายสำหรับสัตว์น้ำในทะเลและมหาสมุทร  สิ่งกีดขวางการแพร่กระจายคือ กระแสน้ำ อุณหภูมิของมวลน้ำ  ในสัตว์บางชนิดที่สามารถเดินทางได้ไกล  เช่น นก ก็ยังมีมหาสมุทรเป็นสิ่งกีดกั้นการแพร่กระจายอยู่



      4  การปรับตัวของสิ่งมีชีวิต
                การปรับตัว หมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตมีการเปลี่ยนแปลงหรือการปรับลักษณะของตนเพื่อให้เหมาะสมที่จะอยู่รอดและแพร่พันธุ์ได้ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ การปรับตัวของสิ่งมีชีวิตเป็นผลมาจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ  รูปแบบการปรับตัวอาจสรุปได้เป็น  3  แบบ  คือ
                1. การปรับตัวทางรูปร่างลักษณะหรือทางสัณฐาน (Morphological Adaptation) เป็นการปรับลักษณะ  รูปร่างและอวัยวะภายนอกของสิ่งมีชีวิต  เช่น  ต้นโกงกางที่อยู่ตามป่าชายเลน  มีรากค้ำจุนช่วยให้ไม่ล้มง่าย     ผักกระเฉดมีทุ่นช่วยในการลอยตัว
                2.  การปรับตัวทางสรีระวิทยา  (Physiological Adaptation)  เป็นการปรับหน้าที่การทำงานของอวัยวะ  เช่น นกทะเลมีต่อมขับเกลือ (Nasal Gland)  สำหรับขับเกลือส่วนเกินออกนอกร่างกาย  สัตว์เลือดอุ่นมีต่อมเหงื่อ  สำหรับขับเหงื่อระบายความร้อน
                3.  การปรับตัวทางพฤติกรรม  (Behavior Adaptation)  เป็นการปรับการดำรงชีวิต  เช่น  การพันหลักของตำลึง  หรือ การออกหากินกลางคืน  การจำศีลของสัตว์ เพื่อหลบเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม