กฏเกณฑ์และปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิแวศ

         องค์ประกอบในระบบนิเวศต่างมีบทบาทหรือหน้าที่ของตนเองซึ่งสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่จะอยู่ร่วมกับสิ่งต่างๆ ได้  ความสัมพันธ์จะกระทำร่วมกันจนเป็นกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่  สุดท้ายก็จะแสดงเอกลักษณะของระบบนั้นๆ ภายในระบบนั้นจะมีสิ่งแวดล้อมอยู่หลายๆ ประเภท  ดังนั้นในระบบนิเวศจึงมีระบบย่อยหลายๆ ระบบ เช่น ระบบนิเวศป่าไม้  ประกอบด้วยระบบ(สิ่งแวดล้อม)น้ำ, ระบบ(สิ่งแวดล้อม)ดิน,  ระบบ(สิ่งแวดล้อม)สัตว์ป่า, ระบบ(สิ่งแวดล้อม)พืช  ฯลฯ  ในทางปฏิบัติแล้วระบบนิเวศมักใช้เหมือนหรือแทนกันได้กับคำว่าระบบสิ่งแวดล้อมบางกรณีจะใช้คำเฉพาะร่วมกับระบบนิเวศก็จะทำให้เข้าใจได้เลยว่าเป็นระบบสิ่งแวดล้อม เช่น  ระบบนิเวศเมือง  ระบบนิเวศป่าไม้  ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นระบบสิ่งแวดล้อมของเมืองหรือป่าไม้
สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่โดยรอบในฐานะที่เป็นองค์ประกอบและทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งในระบบนิเวศ การที่สิ่งมีชีวิตทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศนี้ เรียกว่า “Ecological Niches” นอกจากสิ่งมีชีวิตจะทำหน้าที่ในการดำรงลักษณะทางรูปธรรมอยู่ในระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมแล้วยังทำหน้าที่รับส่งธาตุและพลังงานในสิ่งแวดล้อมตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและต่อชีวะบริเวณด้วย

     
1. สิ่งมีชีวิตมีภาระต่อสิ่งแวดล้อม
                1.  ภาระของสิ่งมีชีวิตต่อสิ่งแวดล้อมเดียวกันย่อมต่างกัน   สิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันย่อมมีภาระหน้าที่ต่อสิ่งแวดล้อมต่างกัน  แม้จะอาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ (Habitat) เดียวกัน  แต่สิ่งมีชีวิตต่างชนิดกันอาจอาศัยอยู่ในระบบนิเวศที่คล้ายกันและมีภาระหน้าที่ต่อสิ่งแวดล้อมคล้ายกันได้ เช่น  ม้าลายในแอฟริกา  จิงโจ้ในออสเตรเลีย  ต่างอยู่ในระบบนิเวศทุ่งหญ้า
                2.  ลักษณะความสัมพันธ์บางอย่างคล้ายกัน  การกระทำหรือถูกกระทำของสิ่งมีชีวิตต่อสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศที่สำคัญจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน  เช่น  นกกินปรสิตที่อยู่บนสัตว์อื่นในแอฟริกากับนกกระยางจะจับแมลงที่อยู่ใกล้ช้าง
                3. การกำหนดลักษณะความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่น แสงแดด ความชื้น  ธาตุอาหารในดิน ฯลฯ จะเป็นปัจจัยกำหนดลักษณะความสัมพันธ์หรือภาระของสิ่งมีชีวิตต่อสิ่งแวดล้อม  เช่น  ในดินที่ชื้นพวกหนอนหรือไส้เดือนจะช่วยผสานองค์ประกอบต่าง ๆ ของดิน  ทำให้เกิดฮิวมัส  ส่วนในดินที่แห้งหนอนหรือไส้เดือนเกิดไม่ได้ก็มีมดเข้าไปทำรังอาศัยอยู่
                การเรียนรู้เกี่ยวกับ Ecological Niches จะช่วยให้เกิดความระมัดระวังในการเปลี่ยนแปลงหรือนำสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในระบบนิเวศ  เช่น  การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  อาจทำให้สิ่งมีชีวิตเปลี่ยนถิ่นที่อยู่หรือเปลี่ยนนิสัยการกินอาหาร สิ่งมีชีวิตจะกระทำต่อสิ่งแวดล้อมทั้งเป็นผู้ให้และผู้รับไปพร้อมกันนั่นคือ สิ่งมีชีวิตจัดว่าเป็นตัวประกอบ  (Element)  ที่สำคัญของระบบนิเวศอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะต้องทำหน้าที่ทั้งเป็นผู้ให้และผู้รับที่สมดุลกัน   การเพิ่มประชากรของสิ่งมีชีวิตใด ๆ มากเกินไป  ย่อมทำให้ระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมขาดสมดุล  (วินัย  วีระวัฒนานนท์  และ บานชื่น  สีพันผ่อง,  2537)